มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ หอการค้าไทย และ สภาวัฒนธรรมไทย–จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ร่วมภาคีลงนามความร่วมมือในการจัดหลักสูตร TEPCIAN (Top Executive Program on China Business Insights and Network) หรือ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านองค์ความรู้และความร่วมมือทางธุรกิจจีน ที่นำเอาความสุดยอดขั้นเซียนของแต่ละองค์กร มาบูรณาการร่วมกันจนกลายเป็นหลักสูตรที่จะเชื่อมเครือข่ายธุรกิจ สานสัมพันธ์ไทย-จีน ให้เกิดความเข้าใจอันดี และมีการต่อยอดทางธุรกิจระหว่างกัน
นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย–จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมาช้านาน โดยความสัมพันธ์ไทยและจีนมีรากฐานสำคัญ 4 ประการดังนี้ ด้านความสัมพันธ์ทางการทูต ที่มีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และในปี พ.ศ.2518 โดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันจนมาถึงปัจจุบัน ด้านความสัมพันธ์ทางธุรกิจ มีการติดต่อค้าขายระหว่างสองประเทศทั้งในระดับราชวงศ์ ขุนนาง และประชาชน ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ทางเครือญาติ กำเนิดนามสกุลแซ่ต่างๆ และคนไทยเชื้อสายจีนทำประโยชน์มากมาย นับได้ว่าคนจีนกับคนไทยมีความสัมพันธ์และผูกพันกันมานาน จึงอาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดุจพี่น้องระหว่างไทยกับจีนได้มีมาอย่างยาวนาน เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ในฐานะของประธานสภาวัฒนธรรมไทย–จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างไทยและจีน โดยสภาวัฒนธรรมไทย–จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดโครงการและกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อการความสัมพันธ์ไทยและจีนในมิติต่าง ๆ อย่างมากมาย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับหลักสูตร TEPCIAN ในมิติต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้สามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือในการเฟ้นหาวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมบรรยายในหลักสูตร การคัดสรรบุคลากรเข้าร่วมอบรม ตลอดจนความร่วมมือในด้านการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหอการค้าไทยต้องการสร้างให้หลักสูตร TEPCIAN เป็นหนึ่งในหลักสูตรเกี่ยวกับจีนที่ดีที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากจีนและไทยต่างเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างช้านาน โดยจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนผจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตได้อีกมากในอนาคต” นายสนั่น กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเรียนการสอนของหลักสูตร TEPCIAN จะเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจากผู้บริหารและผู้ประกอบการที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในไทยและจีน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน สามารถเสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ด้านการค้า และการพาณิชย์ระหว่างผู้บริหารระดับสูง ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งไทยและจีน โดยเริ่มเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจีน เรื่อยมาจนถึงนโยบายการสร้างชาติจีนใหม่ โครงสร้างการบริหารประเทศ ตลอดจนการเติบโตทางธุรกิจและเทคโนโลยี นอกจากนั้น ยังเป็นหลักสูตรที่เน้นพัฒนาผู้เรียนให้สามารถสื่อสารภาษาจีนได้ในชีวิตประจำวัน เข้าใจวัฒนธรรมจีน ตลอดจนสร้างความประทับใจในการร่วมมือทางธุรกิจกับจีนได้ โดยรุ่นนี้ผู้เข้าร่วมอบรมมีทั้งชาวไทย ชาวจีน ซึ่งเป็นผู้บริหารชั้นนำจากภาครัฐและเอกชน ในปัจจุบันหลักสูตร TEPCIAN เปิดมาแล้ว 4 รุ่น โดยได้เริ่มดำเนินการในรุ่นที่ 1 ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2562 โดยในวันมอบวุฒิบัตรของแต่ละรุ่นได้รับเกียรติจากเอกอักอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยมาเป็นประธานในพิธีและชมการแสดงอุปรากรจีนพูดไทยของผู้เรียนในหลักสูตร